ระบบนิเวศต้นน้ำและลำธาร

ระบบนิเวศต้นน้ำและลำธาร
ป่าต้นน้ำ 
   ป่าถือเป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำลำธารเพราะบริเวณป่ามีความชุ่มชื้นเนื่องจาก มีฝนตก มากกว่าบริเวณอื่น  เมื่อฝนตกใบไม้จะทำหน้าที่รองรับน้ำฝน  ลำต้นช่วยชะลอการไหลของน้ำฝน  และรากทำหน้าที่ดูดซับน้ำเอาไว้ทำให้น้ำ ค่อยๆ ไหลซึมลงสู่แหล่งน้ำใต้ดิน  ลำธาร  และแม่น้ำอย่างช้าๆ  หากมีป่าอุดมสมบูรณ์แหล่งน้ำตามธรรมชาติจะไม่แห้งขอด
สิ่งมีชีวิตในแหล่งน้ำ  (ลำธาร  และแม่น้ำ) 
สิ่งมีชีวิตในแหล่งน้ำ  จำแนกตามถิ่นอาศัยที่แตกต่างกัน  แบ่งเป็นกลุ่มต่างๆดังนี้
   - แพลงก์ตอน  (Plankton)  เป็นสิ่งมีชีวิตที่ล่องลอยอยู่น้ำ  เคลื่อนที่โดยการ เคลื่อนที่ของกระแสน้ำเป็นส่วนใหญ่  แบ่งออกเป็น  2  ชนิด  คือแพลงก์ตอนพืช
เช่น  ไดอะตอม  สาหร่าย  และแพลงก์ตอนสัตว์  ได้แก่  โปรโตซัว
   - เนคตอน  (Nekton)  เป็นสัตว์ที่ว่ายน้ำไปมาได้อย่างอิสระ  ได้แก่  แมลง
กบ  ปลา
   - เบนโทส  (Benthos)  เป็นสัตว์อาศัยอยู่ตามพื้นท้องน้ำ  ได้แก่  หอย  ปลา  แมลง  หนอน 
   - เพอรไพตอน  (Periphyton)  เป็นพืชหรือสัตว์ที่เกาะหรือปีนป่ายอยู่ตามต้นไม้หรือใบไม้ของพืชน้ำ  ได้แก่  ไฮดรา  หอยกาบเดี่ยวบางชนิด
   - นูว์สตอน  (Neuston)  หมายถึง  สัตว์ที่ว่ายอยู่ตามผิวน้ำและพืชที่ลอยอยู่ผิวน้ำ  ได้แก่  จิงโจ้น้ำ ไข่น้ำ  จอกแหน
ชุมชนในแหล่งต้นน้ำ แบ่งเป็น  2  แบบ  คือ
   - เขตน้ำไหลเชี่ยว  (Rapid  Zone)  เป็นบริเวณตื้นและมีกระแสน้ำไหลแรงทำให้ก้นลำธารใสสะอาด ไม่ค่อยมีการสะสม
ของตะกอนใต้น้ำ  ได้แก่  น้ำตกและธารน้ำไหล  ซึ่งเหมาะสำหรับการดำรงชีวิตของพวกเบนโทสที่สามารถเกาะติดกับวัตถุใต้น้ำ  และพวกเนคตอนที่มีความแข็งแรงในการว่ายสู้กระแสน้ำ
   - เขตน้ำไหลเอื่อย  (Pool  Zone)  เป็นบริเวณที่มีความลึกและความเร็วของกระแสน้ำลดลง  ทำให้มีการตกตะกอน ของอนุภาค ต่างๆบริเวณท้องน้ำ  ได้แก่  แม่น้ำและลำธารขนาดใหญ่  ซึ่งเหมาะสำหรับการดำรงชีวิตของพวกเนคตอนและแพลงก์ตอน
ระบบนิเวศในแหล่งน้ำ
   ในแหล่งน้ำนี้จะมีกลุ่มสิ่งมีชีวิต  ได้แก่  สัตว์น้ำ  ทั้งตัวเต็มวัย  ตัวอ่อน  และพืชน้ำนานาชนิด  รวมทั้งสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก  และจุลินทรีย์จำนวนมากอาศัยอยู่รวมกัน  สิ่งมีชีวิตเหล่านี้จะมีความสัมพันธ์กันไปตามบทบาทหน้าที่ของสิ่งมีชีวิตแต่ละกลุ่ม  กล่าวคือ  พืช  แพลงก์ตอนพืช  และสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่มีคลอโรฟิลล์  เป็นพวกที่สร้างอาหารได้เองโดยกระบวนการ สังเคราะห์ด้วยแสง  จึงเป็นผู้ผลิตและเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญให้แก่สัตว์  ซึ่งจะกินต่อกันเป็นทอดๆจากสัตว์กินพืช
สัตว์กินสัตว์  และสัตว์ที่กินทั้งพืชและสัตว์เป็นอาหารต่อไป  เมื่อสิ่งมีชีวิตทั้งหลายตายลง  ก็จะถูกสิ่งมีชีวิต  เช่น  จุลินทรีย์  ย่อยสลายซากสิ่งมีชีวิตให้เป็นสารอนินทรีย์กลับคืนสู่แหล่งน้ำและธรรมชาติต่อไป สิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศแหล่งน้ำ จำแนกตามหน้าที่ดังนี้
   - ผู้ผลิต  ได้แก่  พืช  สาหร่าย  แพลงก์ตอนพืช
   - ผู้บริโภคปฐมภูมิ  ได้แก่  แพลงก์ตอนสัตว์  ปลาตะเพียน  ปลานิล  ตัวแมลงอ่อน  หอย  กุ้ง
   - ผู้บริโภคทุติยภูมิ  ได้แก่  ปลา  กุ้ง  กบ  ปลาช่อน  ปลาดุก  ปลากราย  แมลง
   - ผู้บริโภคตติยภูมิ  ได้แก่  ปลาชะโด  จระเข้  นกยาง  งู
   - ผู้ย่อยสลาย  ได้แก่  แบคทีเรีย 

ปัญหาความเสื่อมโทรมของต้นน้ำลำธารและแหล่งน้ำ 
    ต้นน้ำลำธารมีต้นกำเนิดบนเทือกเขาสูงโดยมีป่าช่วยดูดซับน้ำ  แต่ในปัจจุบันพื้นที่ป่าต้นน้ำเสื่อมโทรมมากโดยมีสาเหตุดังนี้
   - การทำลายป่าเพื่อการเกษตรกรรม  เนื่องจากประชากรเพิ่มอย่างรวดเร็วทำให้ขาดที่ดินทำกินและ เกิดจากการ เร่งเพิ่มผลผลิต ทางการเกษตรของพืชไร่บางชนิดเพื่อส่งเสริมสินค้าส่งออก ทำให้มีการบุกรุกทำลายป่าและเปิดเป็นพื้นที่เกษตรกรรม เพิ่มเป็นเงาตามตัว และเกิดจากการที่ผลผลิตทางการเกษตรต่อหน่วยพื้นที่น้อย  จึงต้องใช้พื้นที่เกษตรกรรมมากขึ้น เพื่อให้ได้ ผลผลิตพอกับความต้องการ  ผู้บุกรุกป่ามี  2  กลุ่ม  คือชาวไทยบนพื้นที่ราบและชาวเขาบนพื้นที่สูงภาคเหนือ  ชาวไทยที่ราบ ตัดป่าทำธุรกิจอย่างเห็นแก่ตัว  ชาวเขาตัดป่าเพื่อเพาะปลูก  และชาวเขาจะทำเกษตรซ้ำอยู่ที่เดิมประมาณ  4 – 5 ปี  เมื่อดินหมดความสมบูรณ์  ก็จะเคลื่อนย้ายทำลายป่าเพื่อยึดเป็นพื้นที่เกษตรกรรมแห่งใหม่ต่อไป
   - ไฟป่า  มีอิทธิพลต่อดิน  น้ำในบริเวณต้นน้ำลำธาร  ไฟป่าในประเทศไทยเกิดจากฝีมือมนุษย์ทั้งสิ้น เช่น  เผาป่า  ทำไร่  เผาป่าล่าสัตว์  ไฟป่าจะเกิดในฤดูร้อน  ซึ่งสภาพป่าจะแห้งโดยเฉพาะอย่างยิ่งหญ้าและไม้พื้นล่างที่เป็นเชื้อเพลิงอย่างดี
ในภาคเหนือและภาคอีสานมีฝนน้อย  ไฟป่าจึงเกิดได้ยาวนานกว่าภาคอื่นๆ ไฟป่าเกิดได้ง่ายในป่าดิบแล้ง  ป่าเต็งรัง
และบริเวณทุ่งหญ้า  ซึ่งเกิดจากการทำไร่เลื่อนลอย  ไฟป่าทำให้เศษใบไม้บริเวณผิวหน้าดินถูกเผาผลาญ
ทำให้พื้นดินขาดสิ่งปกคลุมที่ดูดซับน้ำ  เม็ดดินบริเวณผิวหน้าดินเมื่อถูกความร้อนจากไฟจะแห้งเข็งเป็นมัน  ไม่ดูดซับน้ำ
เมื่อฝนตกทำให้เกิดการไหลบ่าของหน้าดินมากขึ้นและเกิดการกัดเซาะได้ง่ายอย่างยิ่ง
   - การก่อสร้างถนน  ในเขตภูเขาสูงบริเวณต้นน้ำ  ตัวถนนซึ่งเปิดหน้าดินขึ้นมาหรือมูลดินที่เกรดทิ้งไว้ข้างทางจะเป็นแหล่งดินตะกอน  ซึ่งจะถูกกัดชะลงในห้วยลำธาร  ทำลายความเสียหายแก่คุณภาพน้ำได้มาก
   - การเลี้ยงสัตว์  ชาวเขาที่อาศัยต้นน้ำจะเลี้ยงสัตว์แทบทุกครอบครัว  จำพวกวัว  ควาย  ม้า  โดยปล่อยให้หากินตามไร่ร้าง  ทำให้ดินแน่นตัว  ลดสมรรถนะในการดูดซับน้ำและทำให้เกิดการไหลบ่าของหน้าดินมากขึ้น
   - การทำเหมืองแร่  น้ำที่ปล่อยสู่ลำห้วยจากพื้นที่ทำเหมืองมีตะกอนมาก  การทำเหมืองแร่บนภูเขาสูงทำให้ดินที่เปิดออกถูกกัดชะได้ง่าย  และยากที่จะฟื้นฟูให้เป็นสภาพเดิม  หลังจากการทำเหมืองผ่านไปแล้ว
การใช้ยาฆ่าแมลงและวัชพืช  หากใช้มากเกินไปไม่ถูกวิธีทำให้คุณภาพน้ำเสื่อมลง  และเกิดอันตรายแก่ผู้ใช้
น้ำทางตอนล่างได้  และการจัดระบบหมู่บ้านบนที่สูงหากไม่ถูกสุขลักษณะก็จะก่อมลภาวะแก่น้ำในลำห้วย  ลำธารได้


ที่มา http://www.waghor.go.th/v1/elearning/nature/our_world4.php

1 ความคิดเห็น: